วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

น้ำคือชีวิต

     กล่าวได้ว่าวิถีชีวิตของคนไทยมีความเกี่ยวข้องกับน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น จึงมีฝนตกชุก อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ และสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของที่อยู่อาศัย อุปโภค บริโภค เกษตรกรรม คมนาคม ตลอดจนใช้เป็นกำแพงป้องกันศัตรูดังสมัยโบราณที่มีสงคราม


คุณสมบัติของน้ำ
               น้ำเป็นสารประกอบที่มีมากที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่โลกถึง 3 ใน 4 ส่วน เป็นน้ำเค็มร้อยละ 97 ส่วนที่เหลือเป็นน้ำจืดอยู่ในรูปน้ำแข็งที่ขั้วโลกร้อยละ 75 จึงมีน้ำจืดบนผิวดินรวมกันเพียง 12 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร
             น้ำเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง  น้ำหนึ่งโมเลกุลเกิดจากการรวมตัวของอะตอมก๊าซไฮไดรเจนประจุบวกสองกับอะตอมก๊าซออกซิเจนประจุลบหนึ่งอะตอม  ในสภาพของเหลว ทุกโมเลกุลของน้ำจะหมุนเวียนวนไปเป็นเส้นโค้งไม่หยุดนิ่ง และจะเกาะกลุ่มไปกับโมเลกุลน้ำอื่น ๆ อย่างไม่เป็นระเบียบ ไม่หยุดหย่อน ในขณะที่โครงสร้างภายในของโมเลกุลของมันค่อนข้างจะคงที่  น้ำมีคุณสมบัติทางเคมีที่พิเศษ สามารถอยู่ได้ใน 3 สถานะ คือ ของแข็ง เรียกว่า น้ำแข็ง ของเหลว เรียกว่า น้ำ และก๊าซ เรียกว่า ไอน้ำ  ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส  เป็นตัวทำละลายที่ดี ละลายได้ทั้งโลหะและอโลหะ น้ำบริสุทธิ์จะมีฤทธิ์เป็นกลาง  
            น้ำสะอาดในโลกของเรานี้จะเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน สร้างตัวขึ้นใหม่ตลอดเวลาด้วยการรับและถ่ายทอดก๊าซออกซิเจน  ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมทั้งแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม โปแตสเซียม แมงกานีส  โซเดียม และเกลือแร่อื่น ๆ ตามเส้นทาง เช่น เมื่อเราดื่มน้ำใสบริสุทธ์จากแหล่งน้ำในภูเขา เราจะได้รสของเกลือแร่ที่มาจากส่วนลึกภายในโลกที่สายน้ำนั้นไหลผ่าน น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจึงถือว่าเป็นน้ำที่เสริมสร้างพลังงานและช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายเราที่ดีที่สุด
            น้ำในธารน้ำธรรมชาติทั้งหลายไหลวนจากภายในลงสู่พื้นน้ำ แล้วเวียนผ่านขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นเกลียวโซ่ต่อกันไป มวลน้ำซึ่งหมายถึงความเร็วในการหมุนตัวของโมเลกุลภายในน้ำไม่เหมือนกันด้วย นอกจากนี้ความเร็วในการหมุนตัวของน้ำยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านด้วย เช่น มวลน้ำที่อยู่ชิดฝั่งจะไหลช้ากว่ามวลน้ำที่อยู่ตรงกลาง แต่ในที่สุดก็จะเวียนเข้าสู่มวลน้ำส่วนอื่น  เมื่อมวลน้ำสองกระแสไหลมาบรรจบกัน ทั้งสองกระแสจะประสานกันเพื่อปรับเป็นมวลน้ำใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่  ทำให้เกิดเป็นระลอกคลื่น  จึงมีการนำความรู้พื้นฐานนี้สู่วิทยาการจัดการน้ำหลายด้าน เช่น การกำจัดน้ำเสีย  การติดตั้งระบบน้ำฝักบัว การอัดฉีดและรดน้ำ หรือแม้แต่ใช้ในทางการแพทย์ ที่เรียกว่าวารีบำบัด


ความสำคัญของน้ำต่อสิ่งมีชีวิต
               1. การใช้น้ำในร่างกายของสิ่งมีชีวิต  เนื่องจากน้ำเป็นสารละลายที่เป็นกลาง และไวต่อการทำปฏิกิริยาเคมี การรวมตัวกันทางเคมีทั้งหลายนั้นต้องการน้ำมาก  เนื่องจากต้องทำให้สารเคมีทุกตัวลอยอยู่ในน้ำได้โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลง
            2. น้ำช่วยปรับร่างกายของสิ่งมีชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เนื่องจากน้ำมีค่าความร้อนจำเพาะสูง ทำให้น้ำสามารถดูดหรือคายพลังงานความร้อนจำนวนมากได้ ก่อนที่อุณหภูมิของน้ำจะเปลี่ยนแปลง สมบัติขัอนี้ของน้ำมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับสัตว์เลือดอุ่น เพราะจะทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถรักษาอุณหภูมิให้เหมาะกับการดำรงชีวิตได้ แม้ว่าอุณหภูมิรอบตัวจะเปลี่ยนแปลงมากเพียงใดก็ตาม


น้ำกับร่างกายคน
            น้ำสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก ชีวิตจะดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากน้ำ  เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยน้ำเป็นหลัก  มนุษย์เราอาจอดอาหารได้นานกว่า 1 เดือน แต่ไม่สามารถอดน้ำได้เกิน 7 -10 วัน เพราะต้องมีการทดแทนการสูญเสียน้ำของร่างกายทางไตและทางผิวหนังในรูปของของเสียตลอดเวลา      
            เลือดเนื้อที่เป็นองค์ประกอบของร่างกายคนนั้นคือ มีน้ำจำนวนราวร้อยละ 60 - 75 ของน้ำหนักตัว คนในวัยหนุ่มจะมีจำนวนร้อยละ 75 และจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงประมาณร้อยละ 65 -60 ในวัยชรา น้ำแทรกอยู่ในทุกอณูของร่างกายตามสัดส่วนที่ต่างกัน เช่น มีน้ำราวร้อยละ 79 ในหัวใจ ปอด และเลือด ร้อยละ 76 ในกล้ามเนื้อ  ร้อยละ 75 ในสมอง ร้อยละ 70 ในตับ ร้อยละ 22 ในกระดูก และร้อยละ 2 -10 ในฟัน  ขณะเดียวกันก็มีการขับน้ำออกจากร่างกายตลอดเวลาเช่นกัน เช่น ทกครั้งที่เราหายใจ เรากักตุนอากาศเข้าไว้ในปอดครั้งละครึ่งลิตร แต่ลมหายใจออกเป็นน้ำในสภาพของไอ เราจึงสญเสียน้ำจากการหายใจออกเฉลี่ยประมาณครึ่งลิตรต่อวัน ต่อมน้ำลายสามคู่ที่อยู่ใต้ลิ้นจะพ่นน้ำลายออกลห่อเลี้ยงปากวันละหนึ่งลิตร เส้นโลหิตฝอยพัน ๆ เส้นภายในลำไส้จะดูดซึมน้ำวันละ 5 ลิตร  และ 2 ใน 3 ของมวลสารอาหารที่ย่อยแล้วจากกระเพาะและลำไส้เล็กนั้นเป็นน้ำ โดยลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่กรองน้ำออกจากร่างกายกลายเป็นเหงื่อ เมื่อเราออกกกำลังกายหรือช่วงอากาศร้อน ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาเพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย ทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้น แต่ก็ทำให้สูญเสียน้ำออกไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว    
             คนต้องดื่มน้ำสะอาดวันละ 2 - 2.5  ลิตร  ผู้ที่ชอบดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์  ทำให้กระตุ้นการขับปัสสาวะซึ่งเท่ากับลดระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย  จึงต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เราสามารถดื่มน้ำได้ตลอดเวลา และควรดื่มน้ำตั้งแต่ตื่นนอน ก่อนนอน และครึ่งชั่วโมงก่อนอาหาร ไม่ควรดื่มน้ำระหว่างอาหาร  นอกจากนั้น ยามใดที่รู้สึกไม่สบาย ปวดศรีษะ เหนื่อยหรืออ่อนกำลังลง กระเพาะมีกรดมากไป ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ เครียด เป็นต้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยได้ทันทีคือดื่มน้ำเพิ่มขึ้น น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นน้ำชนิดเดียวที่มีสรรพคุณทุกชนิดพร้อมในตัว
             น้ำที่ดีควรมีเกลือแร่และธาตุโลหะผสมปนอยู่หลายชนิดในสัดส่วนที่พอเหมาะ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีที่ช่วยกระตุ้น ฟื้นฟู และธำรงความสมดุลของแร่ธาตุที่ประกอบเป็นร่างกายคน น้ำที่ไม่มีเกลือแร่เจือปนเลยหรือมีสารที่ร่งกายไม่ต้องการปนอยู่มากเกินไปนั้นไม่ดีต่อร่างกาย  จริง ๆ แล้ว น้ำที่ได้จากวัฏจักรตามธรรมชาติของน้ำจะเป็นน้ำที่ดีพอ เพราะมันมีเวลาไหลลงสู่ชั้นพื้นดินตื้นลึกต่าง ๆ  ผ่านเขตอุณหภูมิต่าง ๆ ในพื้นโลกแล้วไหลขึ้นมากับต้นไม้ป่าไม้ คายออกซิเจนหรือไหลเซาะดินตามทางที่ผ่านลงสู่ทะเล มีการคำนวณกันว่าปริมาตรน้ำที่ไหลวนจากแม่น้ำลำคลองและธารน้ำต่าง ๆ รวมกันลงทะเลและกลับขึ้นไปเป็นฝนมีจำนวนประมาณ 9,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร แต่วัฏจักรดังกล่าวถูกรบกวนมากขึ้นทุกที เนื่องจาการทำลายป่าเพื่อสร้างชุมชนใหม่ ๆ ความจริงตามวัฏจักรนี้  น้ำได้ผนวกเอาสารเกลือแร่ทั้งจากดินและบรรยากาศเอาไว้ แต่การที่มีระบบเก็บกักน้ำในที่โล่ง และมีกำแพงขอบกั้นในลักษณะของเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำโดยเฉพาะในเขตร้อน ทำให้ร้อยละ 25 ของน้ำดังกล่าวระเหยไปในอากาศ คุณภาพตามธรรมชาติของน้ำถูกทำลายไปเสีย ที่จริงแล้วน้ำจากแหล่งต้นน้ำธรรมชาติเป็นน้ำที่ดีที่สุดโดยเฉพาะเมื่อมันไหลมาจากซอกเขา น้ำจากต้นน้ำที่ดีที่สุดจะมีสีน้ำเงินและสั่นระริกไหวในแสงแดด แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ใกล้ละแวกนั้นหรือไม่ หรือมีการตรวจวิเคราะห์สิ่งเจือปนในน้ำนั้นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่เช่นกัน


ในอดีตมีน้ำอยู่อย่างเหลือเฟือ จึงมีการใช้ทรัพยากรน้ำกันอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของน้ำกันมากนัก ต่อมาเมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำทวีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ความวิตกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชากรโลกเพื่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมได้ ประกอบกับน้ำทิ้งซึ่งเกิดจากการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ภาวะโลกร้อนทำให้วัฏจักรของน้ำที่ช่วยรักษาสมดุลของการหมุนเวียนปริมาณน้ำธรรมชาติเปลี่ยนไป     
            น้ำคือชีวิต ราคาน้ำคือราคาชีวิต น้ำจะกลายเป็นอาวุธการเมืองจนอาจเป็นสาเหตุของสงคราม น้ำจะเป็นตัวบทกฎหมายในขณะเดียวกันน้ำก็จะกลายเป็นนาย ในที่สุดน้ำจะเป็นเครื่องมือสู่ชัยชนะทุกประเภทของมนุษย์ น้ำจะสร้างความไม่เสมอภาคในหมู่คน ภราดรภาพเท่านั้นที่จะช่วยกู้มนุษยชาติได้ น้ำได้รับใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนเสมอมา คนจึงควรเรียนรู้คุณค่าและเลี้ยงดูน้ำให้ดี รักและห่วงใยน้ำเยี่ยงชีวิตของเราเอง และช่วยกันจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ


 ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมองเห็นคุณค่าของน้ำแต่ละหยด ทรงเคยรับสั่งว่า “น้ำฝน 100 หยดในเมืองไทยนั้น มีการกักเก็บมาใช้ประโยชน์เพียง 8 หยดเท่านั้น อีก 92 หยดกลับไหลบ่าท่วมบ้านเรือน ไหลทิ้งลงแม่น้ำโขง ลงทะเล”   และทฤษฎีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครนั้น มี 5 แนวทาง คือ 1) การสร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม    2) การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวตามพระราชดำริ เพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อมีน้ำหลาก    3) ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิม และขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ  4) สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ   5) ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง


อ้างอิง
โชติรส  โกวิทวัฒนพงศ์.  (2544).  รู้จักน้ำ เข้าใจชีวิต รักชีวิต - ถนอมน้ำ.  วารสารสังคมศาสตร์ มศว.  หน้า 4-29.
นัยนา  นิยมวัน.  (2548).  วิถีแห่งน้ำ: ธารชีวิตแห่งโลก.   กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น. 
สุวิสุทธิ์  (2554).  ตามรอยพระบาทจอมปราชญ์แห่งน้ำ.  กรุงเทพฯ: กรีน ปัญญาญาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น